- บริษัทวิจัยตลาดออนไลน์ comScore ออกรายงาน It’s a Social World: Top 10 Need-to-Knows About Social Networking and Where It’s Headed อธิบายแนวโน้ม 10 ประการของโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่เริ่มแสดงตัวให้เห็นแล้วในปัจจุบัน และจะเด่นชัดยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
1. โซเชียลเน็ตเวิร์คกลายเป็นกิจกรรมที่ผู้ใช้เน็ตให้เวลามากที่สุด
ในปี 2011 ที่ผ่านมานี้ กิจกรรมบนโซเชียลเน็ตเวิร์คคิดเป็น 19% หรือประมาณ 1 ใน 5 ของเวลาที่ผู้ใช้เน็ตล็อกอินเข้าสู่โลกออนไลน์ ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มจาก 7% เมื่อปี 2007 ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ส่วนกิจกรรมที่ผู้ใช้เน็ตใช้เวลารองลงมาคือการสื่อสาร (อีเมล+ข้อความสนทนา)
2. สัดส่วนและพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค แตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละประเทศ
ผู้ใช้เน็ตชาวสหรัฐ 98% ใช้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ค ในขณะที่จีนมีเพียง 53% และญี่ปุ่นมีเพียง 58% แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีสัดส่วนผู้ใช้งาน 94%
แต่ในภาพรวมแล้ว โซเชียลเน็ตเวิร์คก็เข้าถึงประชากรชาวเน็ตอย่างมาก comScore ได้สำรวจข้อมูลการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์คใน 43 ประเทศ ผลคือมี 41 ประเทศที่มีผู้ใช้เน็ตใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์คเกิน 85%
ประเทศที่ผู้ใช้เน็ตใช้เวลากับโซเชียลเน็ตเวิร์คมากที่สุดคืออิสราเอล 11.1 ชั่วโมง ตามด้วยอาร์เจนตินาและรัสเซีย แต่ถ้าคิดแยกตามภูมิภาคของโลก เอเชียแปซิฟิกใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเพียง 11% ของเวลาทั้งหมดที่อยู่บนเน็ต ในขณะที่ละตินอเมริกา ตัวเลขนี้สูงถึง 28%
กลุ่มประเทศที่ใช้เวลากับโซเชียลเน็ตเวิร์คน้อยที่สุดคือเอเชียตะวันออก ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยด้านวัฒนธรรมการใช้เน็ต มากกว่าเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางไอที
3. Facebook เป็นผู้นำสำคัญในทุกๆ เรื่องของโซเชียลเน็ตเวิร์ค
ปัจจุบัน Facebook เป็นเครือข่ายเว็บที่มีคนเข้าเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงเว็บในเครือกูเกิลและไมโครซอฟท์เท่านั้น และในปีนี้ Facebook มีผู้ใช้เกินครึ่งของประชากรเน็ตโลกไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้เน็ตใช้งาน Facebook คิดเป็นเวลา 3/4 ของเวลาที่ใช้กับโซเชียลเน็ตเวิร์คทุกชนิด
ถึงแม้ Facebook จะเป็นผู้นำในโลกโซเชียล แต่ก็ยังมีตลาดบางประเทศที่เจาะไม่เข้าเช่นกัน โดยปี 2010 Facebook เป็นผู้นำใน 30 ประเทศจาก 43 ประเทศที่ comScore เก็บสถิติ แต่ในปี 2011 นี้ Facebook สามารถโค่นผู้นำในแต่ละประเทศลงได้อีก 6 แห่ง เพิ่มจำนวนแชมป์เป็น 36 ประเทศจากทั้งหมด 43 ประเทศ
6 ประเทศที่ถูก Facebook ยึดครองตลาดได้แก่ โปรตุเกส เม็กซิโก เยอรมนี อินเดีย ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์
ประเทศที่ comScore สำรวจที่เว็บโซเชียลเน็ตเวิร์คท้องถิ่นยังสามารถทานกระแสอันไหลบ่าของ Facebook อยู่ได้ มีเหลืออยู่ 7 ประเทศคือ บราซิล จีน ญี่ปุ่น โปแลนด์ รัสเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ซึ่งถ้าดูจากกราฟจะพบว่าสถานการณ์ในบราซิลและโปแลนด์ เว็บท้องถิ่นกำลังจะเพลียงพล้ำให้กับ Facebook เช่นกัน
4. พลังแห่งไมโครบล็อก
ไมโครบล็อกหมายถึงการส่งข้อความขนาดสั้นๆ แบบที่ Twitter ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับ Facebook แต่ก็มีความสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ ทุกวันนี้ Twitter เข้าถึงประชากรเน็ต 1/10 ของโลก และมีอัตราการเติบโตของผู้ใช้ที่ร้อนแรงคือ 59% ในรอบปีที่ผ่านมา
จุดที่น่าสนใจคือพลังของการเชื่อมโยงผู้ใช้ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเพื่อนเหมือนกับ Facebook ทำให้ Twitter สามารถสะท้อนความเห็นของชาวโลกต่อเหตุการณ์สำคัญๆ รอบโลก ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬา ข่าวการเสียชีวิตของคนดัง หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก
นอกจาก Twitter แล้ว โลกยังมีบริการไมโครบล็อกอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในบางประเทศ เช่น Weibo ของจีน หรือ Tumblr ซึ่งมีความสามารถด้านมัลติมีเดียเยอะกว่า Twitter ในหลายด้าน
5. ตลาดใหญ่ของโซเชียลเน็ตเวิร์ค คือตลาดนอกสหรัฐอเมริกา
เดิมทีโซเชียลเน็ตเวิร์คมักจับกลุ่มตลาดผู้ใช้ในสหรัฐ ตามมาด้วยชาติตะวันตก แต่ในรอบปีหลัง ผู้ใช้กลุ่มใหญ่ของโซเชียลเน็ตเวิร์ครายใหญ่ของโลก กลับมาจากประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
Facebook และ Twitter มีผู้ใช้จากนอกสหรัฐใกล้เคียงกันคือประมาณ 80% ส่วน Windows Live ของไมโครซอฟท์มีสัดส่วนถึง 90% ที่น่าสนใจคือ โซเชียลเน็ตเวิร์คจากนอกสหรัฐเองก็เริ่มมีผู้ใช้นอกประเทศของตัวเองมากขึ้น เช่น VKontakte ของรัสเซีย มีผู้ใช้ 43% ที่มาจากนอกรัสเซีย
6. โซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ใช่เป็นแค่โลกของคนรุ่นใหม่เท่านั้น
ถึงแม้ในช่วงแรก กลุ่มผู้ใช้หลักของโซเชียลเน็ตเวิร์คจะเป็นเด็กและวัยรุ่น แต่ในรอบปีหลัง เราเห็นคนวัยทำงานเริ่มเข้ามา และยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้งานอย่างมีนัยยะสำคัญ
สถิติที่น่าสนใจอีกอันคือ ประชากรผู้ใช้เน็ตกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ในหลายๆ ประเทศมีสัดส่วนการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คที่สูงมาก เช่น ในสหรัฐ ประชากรผู้ใช้เน็ตที่อายุเกิน 55 ปีจำนวนถึง 94.7% ระบุว่าตัวเองใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ส่วนตัวเลขของละตินอเมริกาอยู่ที่ 93%
7. คนรุ่นใหม่หันมาสื่อสารด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์คแทนอีเมล
การสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มมาแทนการสื่อสารแบบเดิมๆ ในโลกไอทีอย่างอีเมลและการส่งข้อความด่วน (instant messaging) โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับโลกดิจิทัล (digital native)
ผลการสำรวจของ comScore ในกลุ่มผู้ใช้เน็ตอายุ 15-24 ปี พบว่าการใช้อีเมลลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ
8. โซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มยึดวงการโฆษณาออนไลน์ในสหรัฐ
สถิติของ comScore ระบุว่าตอนนี้วงการโฆษณาออนไลน์สหรัฐ แสดงโฆษณา 1 ใน 4 บนโซเชียลเน็ตเวิร์ค และ 5% ของโฆษณาทั้งหมดในโลกออนไลน์ของสหรัฐ มีความเป็น “โซเชียล” คือเชื่อมต่อกับเครือข่ายเฟซบุ๊กหรือโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คจะมีส่วนแบ่งในแง่ “จำนวนครั้ง” ของการโฆษณา แต่ในแง่ “จำนวนเงิน” ของโฆษณากลับยังดึงดูดได้ไม่เยอะเท่าใดนัก คือเพียง 15% ของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์เท่านั้น (หมายเหตุ ไม่นับรวมโฆษณาผ่านระบบค้นหาแบบที่กูเกิลใช้)
9. ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่า เว็บไหนจะดังต่อจาก Facebook
ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า Facebook เป็นราชาแห่งโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คเต็มตัว สามารถเอาชนะคู่แข่งอื่นๆ และผงาดขึ้นมาเป็นแชมป์แบบทิ้งห่าง แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีเว็บไซต์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ครายไหนเจริญรอยตาม Facebook ได้แบบเดียวกันบ้าง
ปี 2011 ยังเป็นปีที่เราได้เห็นการเปิดตัว Google+ ของกูเกิล ซึ่งมาแรงในช่วงแรก และมียอดสมาชิกแตะ 25 ล้านรายเร็วกว่าใคร (เร็วกว่า Facebook/Twitter ในอดีตมาก) อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ Google+ ยังต้องสู้อีกยาวไกล กว่าจะขึ้นไปทาบรัศมี Facebook ในปัจจุบันได้
กลุ่มบริการโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆ ก็มี Twitter กับ LinkedIn ที่มีฐานผู้ใช้เยอะที่สุด (แต่ยังห่างกับ Facebook มาก) ส่วนเว็บที่เติบโตเร็วก็อย่างเช่น Tumblr และ Weibo ที่มีอัตราการเติบโตเกิน 100% ต่อปี
10. เทคโนโลยีมือถือจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนโซเชียลเน็ตเวิร์ค
เทคโนโลยีมือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต กำลังเป็นปัจจัยสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการขับเคลื่อนการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยมีผู้ใช้ที่ระบุว่าใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์คบนมือถือมากขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่มผู้ใช้มือถือ 64% ในสหรัฐ ตอบคำถามว่าใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คบนมือถือเป็นประจำทุกเดือน
ส่วนบริการอย่าง Facebook และ Twitter ก็มีสถิติว่าคนยังใช้ผ่านเบราว์เซอร์เป็นหลัก แต่คนที่ใช้ผ่านมือถือ (ไม่ว่าจะเป็นเว็บบนมือถือหรือแอพ) ก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
รูปแบบการใช้งาน social network บนมือถือยังเน้นไปที่การอ่าน-อัพเดตสถานะในหมู่เพื่อนๆ และติดตามข่าวสารอื่นๆ ส่วนการเช็คอินข้อมูลสถานที่ยังมีผู้ใช้ไม่เยอะมากนัก รวมไปถึงการหาส่วนลดของบริการร้านค้าต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น